วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2556

ประโยชน์ของทุเรียน




ประโยชน์ทุเรียน

ทุเรียน ราชาผลไม้ ให้ประโยชน์มากกว่าที่คิด
ช่วงนี้ผลไม้ออกสู่ตลาดมากมาย ที่เห็น ๆ โดดเด่นเป็นสง่าดูเหมือนจะเป็นทุเรียน ในวัยเยาว์ได้กลิ่นทุเรียนทีไรต้องหันหน้าหนีอย่างฉับพลัน พลางคิดว่า คนเรารับประทานทุเรียนเข้าไปได้อย่างไรกันหนอ กลิ่นฉุนเฉียวอย่างรุนแรงซะขนาดนั้น ต่างกับปัจจุบันที่สามารถรับประทานได้วันละลูกขนาดกลาง ๆ ยิ่งรับประทานในที่ลับตาคนยิ่งอร่อยเพราะจะได้ลุยได้เต็มที่!
ทุเรียนได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ ทุเรียนมีมากกว่า 30 ชนิด มีอย่างน้อย 9 ชนิดที่รับประทานได้ ทุเรียนมีสายพันธุ์ประมาณ 100 สายพันธุ์ให้ผู้บริโภคเลือกรับประทาน ในประเทศไทยพบทุเรียนอยู่ 5 ชนิด มิใช่ว่าจะมีแต่เพียงเนื้อนุ่ม รสชาติอร่อยเพียงอย่างเดียว คุณค่าอย่างอื่นของทุเรียนก็มีด้วยไม่ว่าจะเป็น คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร ไขมัน โปรตีน น้ำ เบต้าแคโรทีน วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ไนอะซิน วิตามินซีแคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม
นอกจากนั้นทุเรียนยังเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงทั้งยังอุดมไปด้วยกำมะถันและคอเลส เตอรอล ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานเพราะหากกินเข้าไประดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็วยังทำให้ร้อนในและรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว
ในตำราสมุนไพรไทย กล่าวไว้ว่า ส่วนต่าง ๆ ของทุเรียนสามารถนำมาใช้เป็นยาได้ โดยใบมีรสขม, เย็นเฝื่อน มีสรรพคุณแก้ไข้, แก้ดีซ่าน, ขับพยาธิ และทำให้หนองแห้ง เนื้อทุเรียนมีรสหวาน, ร้อน มีสรรพคุณให้ความร้อน, แก้โรคผิวหนัง, ทำให้ฝีแห้ง และขับพยาธิ เปลือกทุเรียนมีรสฝาดเฝื่อนใช้สมานแผล, แก้น้ำเหลืองเสีย, พุพอง, แก้ฝี, ตาน, ซาง, คุมธาตุ, แก้คางทูม และไล่ยุงและแมลง ส่วนรากมีรสฝาดขมใช้แก้ไข้และแก้ ท้องร่วง
คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถวบ้านเรา ลาว เขมร พม่า นี่แหละ เชื่อว่าทุเรียนมีคุณสมบัติให้ความร้อนซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเหงื่อออกมากกว่าปกติ วิธีโบราณที่จะลดผลกระทบจากความร้อนนี้คือรินน้ำลงในเปลือกทุเรียนหลังจากเนื้อถูกรับประทานแล้วและดื่มน้ำนั้น อีกวิธีคือรับประทานทุเรียนไปพร้อมกับมังคุดซึ่งถูกคิดว่ามีคุณสมบัติให้ความเย็น มีความเชื่อโบราณที่ห้ามผู้หญิงมีครรภ์หรือคนที่มีความดันเลือดสูงรับประทานทุเรียน
ในบางที่เชื่อว่าทุเรียนจะเป็นอันตรายเมื่อรับประทานร่วมกับกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อันนี้บ้านเราเองก็เชื่อ เขาว่า ห้ามกินเหล้ากับทุเรียน เพราะมัน “ร้อน” ทั้งคู่ เดี๋ยวหลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี…คือบางทีรับประทานทุเรียนเพียงอย่างเดียวก็อาจตายได้ หากรับประทานมากเกินไป ไม่รู้จักความพอดี ฉะนั้น อะไร ที่มันมากเกินไปมันก็ไม่ดี เดินสายกลางดีกว่าพระท่านสอนไว้
เรื่องนี้สิสำคัญ สำหรับบางคนนะ คือ ชาวชวาเชื่อว่าทุเรียนมีคุณสมบัติกระตุ้นความต้องการทางเพศเขาบอกว่า “ทุเรียนตก โสร่งถกขึ้น” อุ๊ย…มิน่าล่ะ!
นอกจากนี้แล้ว ทุเรียนยังสามารถนำไปแปรรูปและทำอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น ทุเรียนกวนอันนี้ก็อร่อย ทุเรียนกรอบก็มี แยมทุเรียนก็ได้ นอกจากอาหารหวานแล้ว อาหารคาวก็นำทุเรียนมาทำได้ ก็ทุเรียนอ่อนไงนำมาแกงได้
เปลือกทุเรียนที่เราเคยเห็นเขาทิ้งเขาขว้างหลังจากที่ปอกเปลือกให้เราแล้ว เชื่อไหมว่า เขาสามารถนำเปลือกทุเรียนมาทำเป็นกระดาษได้ โดยนักวิจัยจากกลุ่มวิจัยพัฒนาการแปรรูปผลิตผลเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร
เปลือกทุเรียนเมื่อแปรรูปเป็นกระดาษแล้วมีคุณภาพเด่นเฉพาะตัว คือให้เส้นใยนุ่มและเหนียวกว่าเนื้อกระดาษสา สามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้หลายชนิด นอกจากนี้ยังสามารถผสมเส้นใยของผัก ผลไม้ต่าง ๆ กับเปลือกทุเรียนในการทำกระดาษ จะทำให้ได้กระดาษ ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นเฉพาะตัวต่างกันไป เช่น เปลือกมังคุดได้สีม่วงธรรมชาติ เปลือกแก้วมังกรจะได้กระดาษสีม่วงธรรมชาติและผิวสัมผัสนุ่ม ใบเตยจะได้กระดาษที่มีกลิ่นหอมและมีสีเขียว หากสนใจทำกระดาษจากเปลือกทุเรียนน่าจะสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี จ.จันทบุรี
มิใช่แต่กรมวิชาการเกษตรเท่านั้น ที่อื่นเขาก็ทำกัน เช่น นักศึกษาจาก ภาควิชาเทคโนโลยี การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ทำกระดาษจากเยื่อเปลือก ทุเรียนขึ้น มีลวดลายในตัวจากหนามทุเรียน โดดเด่นไม่เหมือนใคร คุณภาพดีเหมาะแก่การนำมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์
ผู้ที่สนใจอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมของกระดาษเปลือกทุเรียนคุณภาพสูงสามารถติดต่อได้ที่ ภาควิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ มจธ.

การเลี้ยงไส้เดือนดิน


เพาะเลี้ยงไส้เดือนดินผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพ
“ไส้เดือนดิน” จัดอยู่ในกลุ่มผู้ย่อยสลายซากอินทรีย์ในระบบนิเวศ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามที่อยู่อาศัยและนิสัยในการกินอาหารคือ ไส้เดือนดินที่อาศัยอยู่ตามผิวดินหรือใต้ซากอินทรีย์ และไส้เดือนดินที่อาศัยอยู่ใต้ดินโดยการขุดรูอยู่ โดยไส้เดือนดินที่อยู่ตามผิวดินหรือใต้ซากอินทรีย์จะมีประสิทธิภาพในการย่อยสารอินทรีย์ในดินได้ดีกว่า และมีการขยายพันธุ์ที่รวดเร็วกว่าด้วย โดยทั่วไปในธรรมชาติไส้เดือนดินมีอายุที่ยาวนาน ตั้งแต่ 4-10 ปีขึ้นอยู่กับชนิดของไส้เดือนดิน แต่เมื่อนำมาเพาะเลี้ยงมักพบว่าไส้เดือนดินมีอายุสั้นลง โดยทั่วไปจะมีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 2 ปี
สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของไส้เดือนดิน ประกอบด้วย 1.ความชื้น ไส้เดือนดินแต่ละชนิดจะเจริญเติบโตได้ดีในความชื้นที่แตกต่างกัน เช่น ความชื้นที่เหมาะสมต่อไส้เดือนดินที่อาศัยอยู่ใต้ดินคือ 40-70% ส่วนไส้เดือนดินที่อาศัยใต้กองมูลสัตว์หรือซากอินทรีย์จะเจริญเติบโตได้ดีที่ความชื้น 70-80% เป็นต้น 2.อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของไส้เดือนดิน อยู่ในช่วง 15-28 องศาเซลเซียส โดยไส้เดือนดินในเขตร้อนจะทนต่ออุณหภูมิสูงได้ดีกว่าไส้เดือนดินในเขตอบอุ่น 3.ความเป็นกรด-ด่างของดินมีผลต่อไส้เดือนดิน โดยทั่วไปความเป็นกรด-ด่างที่เหมาะสมต่อไส้เดือนดินอยู่ในช่วง 6.0-8.0 อย่างไรก็ตามพบว่าไส้เดือนดินบางชนิดสามารถอาศัยอยู่ในสภาพที่เป็นกรดจัดได้ (3.7-4.7) 4.ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไส้เดือนดินจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในดินที่มีความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่าง 0.01-11.5% ถ้ามีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่สูงกว่าที่กำหนดจะเป็นอันตรายต่อไส้เดือนดิน
จากลักษณะการกินอาหาร (ซากอินทรีย์) และการอยู่อาศัยของไส้เดือนดิน ทำให้มีประโยชน์ต่อดินในแง่ของการย่อยสลายซากอินทรีย์ในดิน ทำให้ดินมีธาตุอาหารและสาร ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช รวมทั้งการเคลื่อนที่ไปหาอาหารของไส้เดือนดินเป็นการไชชอนดิน ทำให้ดินมีความร่วนซุย มีการระบายของน้ำและการแพร่กระจายของอากาศในดินได้ดี จึงเป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตในดินไม่ว่าจะเป็นพืช จุลินทรีย์ และสัตว์ขนาดเล็กอื่น ๆ
วัตถุประสงค์ของการนำไส้เดือนดินมาเพาะเลี้ยงในประเทศไทย มีจุดมุ่งหมายอยู่ 2 ประการคือ ประการแรกเป็นอาหารสัตว์ ประการที่สอง คือนำมาใช้ย่อยสลายวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรและอาหารเพื่อผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เช่น เศษผัก ผลไม้หรือมูลสัตว์ เป็นต้น
วิธีการเพาะเลี้ยงไส้เดือนดินสำหรับผลิตปุ๋ยอินทรีย์มีด้วยกันหลายชนิด โดยสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมดังนี้
1. การเลี้ยงไส้เดือนดินในภาชนะต่าง ๆ เช่น กระถางปลูกต้นไม้ ลังไม้ หรือบ่อซีเมนต์เป็นต้น เป็นการเลี้ยงขนาดเล็ก และทำได้ทุกครัวเรือน ใช้พื้นที่น้อย การดูแลง่าย แต่ปริมาณปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้ก็น้อยตามขนาดของภาชนะที่เลี้ยง
2. การเลี้ยงไส้เดือนดินในภาชนะเป็นชั้น ๆ เช่น ชั้นไม้ หรือชั้นตู้พลาสติก เป็นต้น เป็นการเลี้ยงที่ใช้พื้นที่จำกัดได้ดี แต่มีข้อจำกัดคือต้องใช้แรงงานในการจัดการค่อนข้างมากและสิ้นเปลืองเวลา
3. การเลี้ยงไส้เดือนดินแบบแปลง กลางแจ้ง เป็นการเลี้ยงไส้เดือนดินที่ใช้เทคนิคง่าย ๆ ด้วยการตั้งกองอาหารเป็นแปลงสำหรับ เลี้ยงไส้เดือนดิน คลุมอาหารของไส้เดือนดินด้วยฟางและตาข่าย สำหรับป้องกันสัตว์มาคุ้ยเขี่ย แต่มีข้อจำกัดตรงที่ไส้เดือนดินสามารถเลื้อยหนีออกได้ง่ายเมื่อสภาวะไม่เหมาะสม เช่น อาหารหมดหรือน้ำท่วม เป็นต้น
4. การเลี้ยงไส้เดือนดินในโรงเรือน เป็นการเลี้ยงที่นิยมสำหรับฟาร์มเกษตรกรส่วนใหญ่ เพราะสามารถจัดการสภาพแวดล้อมต่าง ๆในการเลี้ยงไส้เดือนดินได้ง่าย เช่น การก่อบล็อกสำหรับทำซองหรือคอกเลี้ยงไส้เดือนดิน โรงเรือนจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับต้นทุนของผู้เลี้ยงไส้เดือนดินเป็นหลัก
5. การผลิตไส้เดือนดินแบบอัตโนมัติ เป็นการเลี้ยงไส้เดือนดินอย่างเป็นระบบ ทำให้จัดการได้ง่าย แต่มีข้อจำกัดตรงที่ต้นทุนสูงมาก ดังนั้นต้องมีการศึกษาพันธุ์ที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด
ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากไส้เดือนดินมีอยู่ 2 ชนิดคือ ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดแห้งและปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุดิบหรืออาหารที่ใช้ โดยทั่วไปถ้าเป็นจากเศษพืชหรือผักจะได้ปุ๋ยอินทรีย์ทั้งชนิดน้ำและแห้ง แต่มีปริมาณน้อย ส่วนมูลสัตว์จะได้ปริมาณปุ๋ยอินทรีย์ที่มากกว่า แต่ไม่ได้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถานีวิจัยลำตะคอง วว. เลขที่ 333 หมู่ 12 ถนนมิตรภาพ ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 30130 โทร. 0-4439-0107, 0-4439-0150 , 08-1999-4770 โทรสาร 0-4439-0150 อีเมล lamtakhong@tistr.or.th, momtree_k@tistr.or.th

ยีนควบคุมความหอมในข้าว


                            ค้นพบยีนควบคุมความหอมในข้าว

นักวิจัย มก. เจ๋ง พบยีนความหอมในข้าว นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นพบยีนควบคุมความหอมในข้าว มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทยในการปกป้องการนำยีนความหอมไปใช้ประโยชน์ในเชิงการค้า และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการควบคุมการผลิตสารหอมในข้าว ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงพันธุ์ข้าว ผลงานการค้นพบที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพันธุ์ข้าวดังกล่าวนี้ เป็นของ รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร และคณะวิจัยจากหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร เผยว่า การวิจัยค้นหายีนความหอมของข้าวขาวดอกมะลิ เริ่มทำการทดลองในปี 2537 ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ขั้นตอนแรก การหาตำแหน่งยีนข้าวว่าอยู่โครโมโซมแท่งที่เท่าไร โดยใช้เวลาในการวิจัยประมาณ 4 ปี เพราะตำแหน่งที่อยู่ของยีนตัวนี้คือโครโมโซมแท่งที่ 8 มีอาณาเขตที่ยีนตัวนี้อยู่ที่ประมาณ 4.5 ล้านเบส ซึ่งก็กว้างมาก จากนั้นได้ดำเนินการต่อเนื่องอีก 3 ปี โดยร่วมกับนานาชาติในการถอดรหัสจีโนมของข้าวญี่ปุ่น ทำให้ได้ข้อมูลของสาธารณะเข้ามาในการวิจัย จึงลดขนาดพื้นที่การทำงานลงได้มาก “เราได้แสดงให้เห็นว่าชิ้นส่วนของสารพันธุกรรม ซึ่งมีขนาดไม่กี่ร้อยเบสที่อยู่ในข้าวที่ไม่หอม เช่น ข้าวนิปปอนบาร์เลย์ หรือข้าวญี่ปุ่น ก็ผลิตสารหอมได้ปริมาณเท่ากับข้าวหอมมะลิ แต่รับประทานอร่อยไม่เหมือนกัน [...]